เทคนิคการพัฒนาทักษะภาษาในเด็กปฐมวัย

571181c8d

เทคนิคการพัฒนาทักษะภาษาในเด็กปฐมวัย

นักจิตวิทยาด้านภาษาและนักภาษาศาสตร์ ได้ศึกษาพบว่าเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการ   ทางภาษาที่ค่อนข้างจะรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ยังมีความคลุมเครืออยู่มากเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เด็กในวัยนี้เรียนรู้ภาษาได้ดีกว่าช่วงวัยอื่นๆ  นักภาษาศาสตร์ อาทิ Chomsky (1972) ได้เสนอทฤษฎีเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นเพราะบุคคลมีสิ่งที่เรียกว่า “หน่วยอวัยวะทางภาษา” (language organ) ที่จะช่วยสนับสนุนให้บุคคลเรียนรู้และใช้ภาษา จึงทำให้สามารถที่จะเข้าใจกฎเกณฑ์หรือไวยากรณ์ในการประกอบประโยคของภาษาแม่ได้  ซึ่งนอกจากคำอธิบายในด้านปัจจัยภายในบุคคลแล้ว ยังมีทฤษฎีอื่นๆ ที่กล่าวถึงปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยด้านสังคม (social factor) ซึ่งรวมถึงการที่เด็กในวัยนี้สังเกตการใช้ภาษาของผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดอีกด้วย

เด็กในช่วงปฐมวัยจะมีลักษณะที่พิเศษที่ส่งเสริมให้เรียนรู้ภาษาได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่  การมีแรงจูงใจตนเอง (self-motivation) ที่จะใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกับบุคคลรอบข้าง  จะเห็นได้ว่า  เด็กจะสนใจถามอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่เขาเห็นคืออะไร โดยอาจจะกล่าวว่า  “นั่นอะไร” หรืออาจจะกล่าวย้ำถึงสิ่งนั้นหลังจากที่ผู้ใหญ่บอกชื่อว่าคืออะไร เช่น “ไขควงหรอ ไขควรคืออะไร”  นอกจากนี้ เด็กในช่วงปฐมวัยจะมีการถามเกี่ยวกับลักษณะและคุณสมบัติ  เช่น  สิ่งนี้แตกต่างจากอีกสิ่งหนึ่งอย่างไร  คำถามประเภทนี้  มาจากแรงขับเคลื่อนที่แฝงอยู่ภายเด็ก เพื่อที่จะสร้าง    มโนทัศน์ (concept) ของสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม  ด้วยเหตุนี้          การตอบสนองของสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการสร้าง   มโนทัศน์ และเรียนรู้ภาษาแม่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

การตอบสนองของสิ่งแวดล้อม  (environmental response) ที่กล่าวถึง หมายถึง การที่ผู้เรียนได้รับการตอบสนองด้านภาษาหรือการสื่อสารอย่างมีปฎิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลในครอบครัวและครู ที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาความสามารถในด้านภาษาของเด็กปฐมวัย ซึ่งรูปแบบของการตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ภาษาของเด็กวัยนี้โดยส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการหรือไม่ใช่การสอนภาษาโดยตรง  แต่จะมีลักษณะเป็น  การเข้ามีส่วนร่วมของครอบครัว (parental involvement) ในลักษณะการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเด็กที่บ้าน (at-home involvement) ตัวอย่างเช่น  การอ่านหนังสือไปพร้อมๆ กับเด็ก  การสอนให้ร้องเพลงหรือทำท่าทางประกอบจังหวะต่างๆ  การวาดเขียน การเล่นหรือการอ่านบัตรคำหรืออุปกรณ์ที่แสดงตัวอักษรหรือตัวเลข  การพาเด็กไปอ่านหนังสือหรือสืบค้นข้อมูลในห้องสมุด  การพาเด็กไปเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เพื่อให้ได้พบปะกับเด็กในวัยเดียวกันหรือบุคคลในกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความสามารถในการใช้ภาษาในการสื่อสารอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป็นต้น  (Bonci, 2008 อ้างถึงใน Cole, 2011: 5)

นอกจากกิจกรรมต่างๆ ขั้นต้นแล้ว เทคนิคพื้นฐานที่สำคัญ ที่ผู้ปกครองหรือครูสามารถใช้เพื่อการพัฒนาความสามารถด้านภาษาของเด็กปฐมวัย ได้แก่ การแสดงให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่าง (modeling)  การอธิบายหรือการให้ข้อมูลให้กว้างขึ้น (expansion)  การพูดกับตนเอง (self-talk)  การพูดเชิงคู่ขนาน (parallel talk) (Tuckman และ Monetti, 2011: 82)  ซึ่งทุกเทคนิคโดยส่วนใหญ่แล้ว มีหลักการที่ร่วมกันอยู่ คือ การส่งเสริมให้เด็กใช้วัจนภาษา (verbal language) หรือภาษาพูดที่ใช้ถ้อยคำ เช่น การบอกเล่า ท่อง อธิบาย อภิปราย แสดงความคิดเห็น ฯลฯ ขณะที่กำลังทำกิจกรรมต่างๆ ให้ได้มากที่สุด และขณะที่เด็กใช้ภาษาเพื่อพูดสื่อสารนั้น ผู้ปกครองหรือครูก็จะต้องสร้างบรรยากาศเพื่อให้เกิดการตอบสนองด้านการพูดให้ได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน โดยอาจจะใช้คำถาม การพูดซ้ำหรือการแก้ไขที่เด็กพูดไม่ถูกต้อง    เป็นต้น

เทคนิคการแสดงให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่าง (modeling) เป็นเทคนิคพื้นฐานเทคนิคแรก  ที่มีความสำคัญมากในการพัฒนาทักษะทางภาษา  เพราะตามทฤษฎีการเรียนรู้ บุคคลสามารถเรียนรู้ได้จากการสังเกตตัวแบบ  ซึ่งในที่นี้  ได้แก่ การแสดงการใช้ภาษาที่ถูกต้องของผู้ปกครองเพื่อให้เด็กพิจารณาในทันที หากเขาใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ ซึ่งอาจกระทำได้ด้วย  การแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนถ้อยคำให้เด็กพิจารณาเป็นตัวอย่าง เช่น หากเด็กกล่าวว่า “กิน อิ่ม ข้าว” ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่ถูกต้องตามหลักภาษา ผู้ปกครองหรือครูจะต้องรีบกล่าวซ้ำเพื่อให้เด็กแก้ไขข้อความนั้นในทันที โดยอาจจะกล่าวว่า  “ต้องพูดใหม่ว่า  กินข้าวอิ่ม ไหนลองพูดตามซิ” เป็นต้น  เทคนิคต่อมาคือ การอธิบายหรือการให้ข้อมูลที่กว้างขึ้น  (expansion)   เทคนิคนี้  หมายถึง การที่ผู้ปกครองหรือครูให้ข้อมูลทางหลักภาษาเพิ่มเติมแก่เด็ก เพื่อให้เขาสามารถใช้ภาษาที่มีลักษณะประณีตหรือละเอียดมากยิ่งขึ้นกว่าที่เขาใช้โดยปกติ หรือกล่าวให้ง่ายขึ้น      คือ การที่ผู้ใหญ่แก้ไขประโยคหรือข้อความที่เด็กพูดให้มีความสละสลวยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นประโยคหรือข้อความที่สื่อความได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น หากเด็กกล่าวว่า “นกบินสูง” ผู้ปกครองหรือครูควรจะตอบสนอง ด้วยการอธิบายหรือการให้ข้อมูลแก่เด็กในลักษณะที่กว้างขึ้นว่า “อ๋อ! ใช่  นกสีดำตัวใหญ่ตัวนั้นบินสูงมากและบินเร็วด้วย ไหนลองพูดตามซิ”       การขยายความในลักษณะเช่นนี้  จะช่วยให้เด็กเรียนรู้โครงสร้างของประโยคและเรียนรู้เรื่องคำขยาย (วิเศษณ์) เพิ่มเติมอีกด้วย

นอกจากเทคนิคทั้ง 2 เทคนิคข้างต้นแล้ว ผู้ปกครองหรือครูยังสามารถใช้เทคนิคการพูดกับตนเอง  (self-talk)  ซึ่งเป็นเทคนิคที่จะช่วยพัฒนาทั้งการสื่อสารและกระบวนการคิดไปในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองหรือครูสามารถใช้เทคนิคนี้ด้วยการพูดออกเสียง บรรยายวิธีการหรือความคิดของตนเองในขณะที่กำลังปฎิบัติงานต่างๆ ให้เด็กได้พิจารณา เช่น ขณะที่กำลังเล่น   ตัวต่อ (jigsaw)  กับเด็ก ผู้ปกครองหรือครูควรพูดว่า “ไหน เรากำลังจะต่อภาพอะไร เริ่มต้นอย่างนี้นะ เราต้องดูภาพก่อนว่า ภาพที่เราจะต่อเป็นเป็นภาพอะไร อะไรเป็นจุดเด่นของภาพ จากนั้นก็ดูซิว่า ชิ้นไหนน่าจะอยู่ในตรงที่เป็นจุดเด่นของภาพ เอาล่ะ เห็นไหม ได้มาแล้ว  ที่นี้ต่อไป เราก็จะจัดชิ้นตัวต่อพวกนี้เป็นกลุ่มๆ เข้าใจไหม” การพูดกับตนเองนี้ สามาถใช้ได้แม้กระทั่งการสอนให้เด็กแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การผูกเชือกรองเท้า  การแปรงฟัน  การกลัดกระดุมเสื้อ เป็นต้น  ซึ่งในทางจิตวิทยาการเรียนรู้กลุ่มพุทธิปัญญานิยม จะเรียกสิ่งที่ครูอธิบายความคิดหรือกระบวนการแก้ไขปัญหาให้ผู้เรียนฟัง เพื่อให้เด็กได้ทดลองปฎิบัติตามเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองว่า การใช้ “ยุทธศาสตร์การเรียนรู้” (learning strategies)     ส่วนเทคนิคสุดท้ายที่จะได้กล่าวถึงในที่นี้ คือ เทคนิคการพูดเชิงคู่ขนาน (parallel talk) ผู้ปกครองหรือครูสามารถใช้เทคนิคด้วยการพูดออกเสียง  เพื่อบรรยายพฤติกรรมที่เด็กกำลังทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เพื่อให้เขาได้ฟังขนานกันไปด้วย  ตัวอย่างเช่น  เมื่อเด็กกำลังปั้นรดินน้ำมันเป็นรูปสัตว์สักชนิดหนึ่ง  ผู้ปกครองหรือครูก็อาจจะพูดบรรยายพฤติกรรมของเด็กขณะที่กำลังปั้นพร้อมกันไปด้วย เช่น  “ตอนนี้ ลูกกำลังปั้นส่วนที่เป็นลำตัว เห็นไหม ลำตัวของม้าจะต้องรูปร่างสูงใหญ่  อ๋อ แล้วตอนนี้  ลูกกำลังปั้นส่วนที่เป็นขาทั้ง 4 ขา เป็นท่อนๆ โดยใช้ดินน้ำมันสีเดียวกัน  แล้วลูกก็นำมาประกอบกัน อย่างนั้นล่ะ ใช่แล้ว”  ทั้งนี้ ระหว่างที่บรรยายพฤติกรรม ผู้ปกครองอาจใช้คำถามกระตุ้นให้เกิดการตอบสนอง เช่น  “เพราะอะไรลูกจึงใช้ดินน้ำมันสีนี้”  “ทำไมม้าของลูกจึงมีแผงคอยาว” ซึ่งก็จะช่วยให้เด็กได้ฝึกหัดที่จะอธิบายความคิดของตนเองออกมาอีกทางหนึ่งด้วย

เด็กปฐมวัยควรที่จะได้รับการฝึกหัดให้ตอบสนองแก่สิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วัจนภาษาให้ได้มากที่สุด โดยผู้ปกครองและครูจะต้องส่งเสริมหรือจัดสภาพของการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กได้สังเกตการใช้ภาษาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การสังเกตแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เด็กควรที่จะได้รับการฝึกหัดให้ใช้ภาษาอย่างถูกต้อง เช่น พูดตามข้อความที่ผู้ใหญ่แก้ไข หรือพูดเพื่ออธิบาย ตอบคำถาม เล่าความคิด ในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ ดังนั้น หากจะสรุปหลักการพื้นฐานของการพัฒนาทักษะทางภาษาในเด็กปฐมวัยให้กระชับชัดเจน       ก็อาจจะสรุปได้ว่า ควรส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังผู้ใหญ่แสดงตัวอย่างการใช้ภาษาที่ถูกต้อง และให้เขาตอบสนองด้วยการใช้การพูดสื่อสารขณะที่เขาทำกิจกรรมต่างๆ       ให้มากที่สุด ดังนั้น  อัตราการเรียนรู้ภาษาในเด็กจะเกิดขึ้นได้ช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับอัตราที่เขาได้ฝึกหัดใช้ภาษาในชีวิตประจำวันนั่นเอง

โพสท์ใน ภาษาอังกฤษ | ใส่ความเห็น

นิทานภาษาอังกฤษ แจ็กกับต้นถั่วยักษ์

นิทานภาษาอังกฤษ แจ็กกับต้นถั่วยักษ์

โพสท์ใน มุมนิทานภาษาอังกฤษ | ใส่ความเห็น

นิทานภาษาอังกฤษเด็กชายกับฝูงกบ

นิทานภาษาอังกฤษเด็กชายกับฝูงกบ

โพสท์ใน มุมนิทานภาษาอังกฤษ | ใส่ความเห็น

นิทานภาษาอังกฤษลูกหมูสสามตัว

นิทานสอนอังกฤษ-ลูกหมูสสามตัว

โพสท์ใน มุมนิทานภาษาอังกฤษ | ใส่ความเห็น

นิทานภาษาอังกฤษกระต่ายกับเต่า

นิทานภาษาอังกฤษกระต่ายกับเต่า

โพสท์ใน มุมนิทานภาษาอังกฤษ | ใส่ความเห็น

นิทานภาษาอังกฤษแม่ปูกับลูกปู

นิทานภาษาอังกฤษแม่ปูกับลูกปู

The Mother Crab and Her Son

โพสท์ใน มุมนิทานภาษาอังกฤษ | ใส่ความเห็น

เพลง A-Z เพื่อนสัตว์น่ารัก

เพื่อนสัตว์น่ารัก A-Z

โพสท์ใน ภาษาอังกฤษ | ใส่ความเห็น

คำศัพท์ภาษาอังกฤษ หมวด ลูกสัตว์

คำศัพท์ภาษาอังกฤษ หมวด ลูกสัตว์

โพสท์ใน ภาษาอังกฤษ | ใส่ความเห็น

คำศัพท์ภาษาอังกฤษ หมวด ผลไม้

คำศัพท์ภาษาอังกฤษ หมวด ผลไม้

โพสท์ใน ภาษาอังกฤษ | ใส่ความเห็น

คำศัพท์ภาษาอังกฤษ หมวด สัตว์

คำศัพท์ภาษาอังกฤษ หมวด สัตว์

โพสท์ใน Uncategorized | ใส่ความเห็น